สำหรับคอเทคโนโลยีเชื่อว่า วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเทคโนโลยีอย่าง Bluetooth หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “บลูทูธ” เพราะนับตั้งแต่เราเริ่มมีอินเทอร์เน็ต และก้าวสู่โลกของโทรศัพท์มือถือที่พกพาไปไหนมาไหนได้ เทคโนโลยีบลูทูธเองก็ติดตัวเรา ในแบบที่เรียกว่าใช้กันจนชิน และลืมไปแล้วว่ามันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร
ย้อนกลับไปกันซักนิด เพื่อระลึกความทรงจำกันซักหน่อยว่า เทคโนโลยีบลูทูธ นั้นคืออะไร เทคโนโลยี บลูทูธ (Bluetooth) ถือเป็นเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมเครือข่ายส่วนบุคคล (Personal Area Networks – PAN) แบบไร้สาย ที่ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อกันได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยผ่านทางคลื่นวิทยุ
โดยบลูทูธจะใช้สัญญาณวิทยุความถี่สูง 2.4 GHz. แต่จะแยกย่อยออกไป ตามแต่ละประเทศ อย่างในแถบยุโรป และอเมริกา จะใช้ช่วง 2.400 ถึง 2.4835 GHz. แบ่งออกเป็น 79 ช่องสัญญาณ และจะใช้ช่องสัญญาณที่แบ่งนี้ เพื่อส่งข้อมูลสลับช่องไปมา 1,600 ครั้งต่อ 1 วินาที
ส่วนที่ญี่ปุ่นจะใช้ความถี่ 2.402 ถึง 2.480 GHz. แบ่งออกเป็น 23 ช่อง ระยะทำการของบลูทูธจะอยู่ที่ 5-100 เมตร โดยมีระบบป้องกันโดยใช้การป้อนรหัสก่อนการเชื่อมต่อ และ ป้องกันการดักสัญญาณระหว่างสื่อสาร โดยระบบจะสลับช่องสัญญาณไปมา จะมีความสามารถในการเลือกเปลี่ยนความถี่ที่ใช้ในการติดต่อเองอัตโนมัติ
BlueBorne Malware Attack Bluetooth
โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามหมายเลขช่อง ทำให้การดักฟังหรือลักลอบขโมยข้อมูลทำได้ยากขึ้น แต่วันนี้ความเชื่อดังกล่าวเห็นที่จะใช้ไม่ได้เสียแล้ว เนื่องจากล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา บริษัทด้านความมั่นคงปลอดภัย Armis ได้รายงานช่องโหว่ชื่อ BlueBorne
ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ส่งผลให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถขโมยข้อมูลหรือติดตั้งมัลแวร์ลงในอุปกรณ์ใดๆ ที่เปิดใช้งาน บลูทูธแล้วอยู่ในรัศมีใกล้เคียงกันได้ (ประมาณ 10 เมตร) โดยที่ตัวอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องจับคู่ (Pair) กับอุปกรณ์ที่ใช้โจมตี รวมถึงไม่จำเป็นต้องเปิดโหมดค้นหาอุปกรณ์ (Discovery mode) อีกด้วย
แน่นอนว่าช่องโหว่นี้ได้ส่งผลกระทบกับอุปกรณ์จำนวนมากที่มีการใช้งานบลูทูธ เช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things อีกด้วย โดยอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานบลูทูธแล้ว เกิดอยู่ในรัศมีการรับส่งสัญญาณของอุปกรณ์ที่ใช้โจมตี มีโอกาสที่จะถูกขโมยข้อมูลหรือถูกติดตั้งมัลแวร์ลงในเครื่องได้ในทันที่
แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยออกมาว่ามีมุ่งโจมตีสู่สาธารณะ รวมถึงยังไม่พบว่ามีการนำช่องโหว่นี้มาใช้โจมตีโดยแก่บุคคลทั่วไป แต่ก็หมายถึงความเสี่ยงที่อาจถูกโจมตีได้หากมีการมุ่งประสงค์ร้ายเกิดขึ้นมาจริงๆ และนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่ องค์กรธุรกิจต่างๆจะต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
เพราะหากมีการอนุญาติให้พนักงานใช้เครื่อง หรือที่เราเรียกว่ายุคการใช้อุปกรณ์ไอทีส่วนตัวมาใช้ทำงานที่บริษัท หรือเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์ก ของบริษัท หรือเน็ตเวิร์กของที่อื่นๆ ที่ไปติดต่องาน หรือที่เรียกว่า BYOD ก็หมายถึงความเสี่ยงอย่างมหาศาลที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันทางผู้ผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆกำลังพัฒนา และเผยแพร่อัปเดตเพื่อแก้ไขปัญหานี้กันอย่างเร่งด่วน
ซึ่งจากการเปิดเผยพบว่าระบบที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่แฮกเกอร์ใช้ บลูทูธเจาะเข้าระบบนั้น มีระบบปฏิบัติการ Android ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแพตช์ประจำเดือนกันยายน 2560 ระบบปฏิบัติการ Windows ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแพตช์ประจำเดือนกันยายน 2560
รวมไปถึงระบบปฏิบัติการ Linux ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแพตช์หลังจากวันที่ 12 กันยายน 2560 และระบบปฏิบัติการ macOS เวอร์ชัน 10.11 หรือต่ำกว่า อ่ะๆอย่าเพิ่งแอบดีใจว่า ไอโฟนจะรอด เพราะระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 9.3.5 หรือต่ำกว่า ก็พร้อมที่จะโดนเช่นกัน
อย่างไรก็ดีเราสามารถป้องกันได้โดยปฏิบัติตามดังต่อไปนี้ อย่างแรกคือ หากไม่ได้มีความจำเป็น ควรปิดการใช้งาน บลูทูธ ในอุปกรณ์ทุกชนิด จากนั้นตรวจสอบสถานะการอัปเดตแพตช์ โดยควรติดตั้งอัปเดตให้เรียบร้อยก่อนเปิดใช้งาน บลูทูธ อีกครั้ง และอัปเดตแพตช์สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับผู้ที่ใช้ระบบ iOS เนื่องจาก iOS เวอร์ชัน 10 นั้นไม่ได้รับผลกระทบจากช่องโหว่นี้ ผู้ใช้ควรอัปเดตระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชัน 10 หรือใหม่กว่า ในส่วนของ Android นั้นทาง Google ได้เผยแพร่อัปเดตแก้ไขช่องโหว่ในแพตช์ประจำเดือนกันยายน 2560 อุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ เริ่มได้รับการอัปเดตแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์รุ่นเก่าที่สิ้นสุดการสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยแล้ว ควรพิจารณาความเสี่ยงหากเปิดใช้งาน Bluetooth Windows ของ Microsoft ได้เผยแพร่แพตช์แก้ไขช่องโหว่เมื่อวันที่ 13 ผู้ใช้ควรอัปเดตให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ด้านผู้ใช้ Linux ทางผู้พัฒนาหลายรายเริ่มทยอยเผยแพร่แพตช์แก้ไขช่องโหว่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
ซึ่งผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลการอัปเดตจาก Distributor ที่ใช้งาน และควรอัปเดตให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด แต่ที่น่ากังวลคือผู้ใช้ระบบ macOS เพราะเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการว่าได้มีการป้องกันแล้ว แต่ทาง Apple แจ้งว่าระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุดไม่ได้รับผลกระทบ (ปัจจุบันเป็นเวอร์ชัน 10.12) ผู้ใช้ควรอัปเดตให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด น่าจะปลอดภัยที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพบางส่วนจาก : www.thaicert.or.th http://thehackernews.com และ th.wikipedia.org
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่