หนึ่งในกิมมิคสำคัญของ โอลิมปิก โตเกียว 2020 คงหนีไม่พ้นเรื่องการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อมาดูการผลิตเหรียญทอง เงิน และทองแดง จะพบว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดึงแร่ธาตุที่ยังหลงเหลืออยู่มาผลิตเป็นเหรียญโอลิมปิกได้อย่างลงตัว
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ได้มีการแตกย่อยหลายๆ โครงการเพื่อผลิตชิ้นงานที่แสดงศักยภาพของญี่ปุ่นออกมา หนึ่งในโครงการนั้นก็คือ “Tokyo 2020 Medal Project” ได้ทำการรวบรวมเศษซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 มาได้ประมาณ 78,985 ตัน (ซึ่งผู้รวบรวมคือเทศบาลของญี่ปุ่น) โดยในซากส่วนใหญ่ที่รวบรวมได้นั้น แยกออกเป็นโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้วอยู่ราว 6,210,000 เครื่อง จากร้าน NTT Docomo ที่อยู่ทั่วญี่ปุ่น
The #Tokyo2020 Medal Project aims towards an innovative future for the world 🌏
♻️ From April 2017 to March 2019, small electronic devices including mobile phones were collected to produce the Olympic and Paralympic medals 🏅
#WednesdayWisdom pic.twitter.com/WKVeRb0OcS— #Tokyo2020 (@Tokyo2020) June 30, 2021
เมื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกแร่ธาตุ เพื่อนำมาเผลิตเป็นเหรียญรางวัล 5,000 เหรียญ ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง โดยผลิตแร่ธาตุสำหรับแต่ละเหรียญได้ดังนี้
- แยกแร่ธาตุมาทำ “เหรียญทอง” ได้ประมาณ 32 กิโลกรัม
- แยกแร่ธาตุมาทำ “เหรียญเงิน” ได้ประมาณ 3,500 กิโลกรัม
- แยกแร่ธาตุมาทำ “เหรียญทองแดง” ได้ประมาณ 2,200 กิโลกรัม
จริงอยู่ว่าการนำซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาทำเป็นเหรียญโอลิมปิกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในการกีฬาโอลิมปิก ริโอ 2016 ที่ประเทศบราซิล ก็มีการนำเอาซากของรถยนต์และกระจก มารีไซเคิลจนได้ Sterling Silver หรือเงินที่มีแร่เงินบริสุทธิ์อยู่ 92.5% มาใส่ในเหรียญเงินและเหรียญทอง แต่เอาเข้าจริงก็นำวัตถุที่สกัดมาใส่ในเหรียญเพียง 30% เท่านั้น
ทางด้านสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า โลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 53.6 ล้านตัน (หรือ 7.3 กิโลกรัมต่อคน) เทียบเท่าเรือสำราญ Queen Mary 2 ที่ผลิตในปี 2019 เป็นจำนวน 350 ลำ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณสูงขึ้น 5 เท่า อีกทั้งยังมีเศษเหล็กแค่ 20% ที่ถูกรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะในยุคนี้ ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้น ในขณะที่อุปกรณ์เหล่านั้นมีวงจรชีวิตที่สั้นลง และยังมีทางเลือกในการซ่อมแซมที่ไม่มากพออีกด้วย
น่าจับตาว่าโอลิมปิกในปีต่อๆ ไป เช่น โอลิมปิก ปักกิ่ง 2020 ที่จีน และโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส จะมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน